การศึกษานอกระบบไทย – ปัญหาและทางออก

“ทำไมเราต้องเรียนหนังสือ ต้องไปโรงเรียน ?” ดูเหมือนจะเป็นคำถามยอดฮิตของเด็กจำนวนมาก การศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ เพราะหากคนในชาติได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพจะส่งผลให้คนเหล่านั้นเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ เนื่องจากการศึกษาเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมให้คนเกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งทักษะ ศักยภาพ และขีดความสามารถในการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม การศึกษาในระบบแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยด้วย เพื่อสร้างความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ให้คนในชาติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ในบทความนี้จะขอหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ของครู กศน.ตำบลในภูมิภาคตะวันตก เพื่อพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน” โดยจะมุ่งเน้นไปที่การกล่าวถึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอย่าง กศน.ตำบล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่กำหนดไว้ว่า “คนไทยต้องได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ”

ปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับและการขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) หรือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพราะยังมีคนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษาในระบบ เนื่องจากข้อจำกัดบางประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ หรือการที่ต้องเข้าสู่ภาคแรงงานก่อนวัยอันควร ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพให้กับผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียน จึงได้มีการจัดตั้ง กศน.ตำบลขึ้น โดยให้มีฐานะเป็นหน่วยในการจัดกิจกรรมการศึกษาเรียนรู้นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้ประชาชนในชุมชนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยมีภารกิจเป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้ (จัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือให้แก่คนในชุมชนที่สนใจ) และศูนย์ข้อมูลข่าวสารชุมชน (เป็นสถานที่ให้ชุมชนได้มาพบปะ เสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า กศน.ตำบลนั้นถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่อยู่ในชุมชนและท้องถิ่นอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาของ กศน. ที่ผ่านมา พบว่ายังไม่ประสบผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร เนื่องจากมีปัญหาทั้งในด้านระดับของหลักสูตรที่ถูกออกแบบมาไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของผู้เรียนนอกระบบที่มีความแตกต่างกัน อีกทั้งยังมีปัญหาในระดับบุคลากร นั่นคือ ครู กศน. อันถือเป็นต้นน้ำของการถ่ายทอดความรู้ สภาพการจัดการเรียนการสอนของครู กศน.ตำบล ที่ผ่านมายังมีจุดที่ควรพัฒนาในหลายประการ
 

“ปัญหาคือครูจบไม่ตรงสาขา บางคนไม่สามารถสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ได้”

คำกล่าวของผู้บริหาร กศน. ตำบลแห่งหนึ่งที่สะท้อนถึงปัญหาในการจัดการเรียนการสอน

 

“บางวิชาที่เราไม่ถนัด แต่เราก็ต้องสอน ต้องจัดการเรียนรู้ให้เขา ทั้งที่รู้สึกว่าทำได้ไม่เต็มที่ ไม่ถนัด เช่น ภาษาอังกฤษ เพราะครูบางคนจบไม่ตรงสาย แต่ต้องรับผิดชอบทุกวิชาที่เด็กลงทะเบียนเรียน”

คำสัมภาษณ์ของครู กศน. ตำบลที่สะท้อนถึงปัญหาในการจัดการเรียนการสอน

 

คุณคิดอย่างไรกับคำกล่าวของทั้งผู้บริหาร กศน. ตำบลและครูกศน.ข้างต้น? นี่เป็นการสะท้อนถึงสภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันของ กศน. ตำบล มีปัญหาทั้งในระดับของหลักสูตรและระดับของตัวผู้สอน ในระดับของหลักสูตร สิ่งที่เกิดคือหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอนยังไม่เหมาะสมกับผู้เรียน กศน.ตำบล เนื่องจากผู้เรียนใน กศน.ตำบล มีความแตกต่างจากผู้เรียนในโรงเรียนทั่วไป ฉะนั้นหลักสูตรที่เหมาะสมควรจะเป็นในลักษณะที่มีความยืดหยุ่น เน้นการเรียนรู้ผ่านภูมิปัญญาชุมชนและการฝึกปฏิบัติจริงเป็นหลัก แต่หลักสูตรในปัจจุบันกลับไม่ยืดหยุ่น มีการกำหนดให้เรียนในหลายรายวิชา ทำให้มีคนในชุมชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา กศน.ตำบลได้ เนื่องจากไม่มีเวลามากพอที่จะไปเรียนได้ครบทุกวิชา เพราะต้องทำงาน

นอกจากนี้หลักสูตรยังถูกออกแบบมาไม่สอดคล้องกับความพร้อมของครูผู้สอน อันนำมาสู่ปัญหาในระดับครู กศน.ตำบล คือ ครูแต่ละคนต้องรับผิดชอบสอนในหลายรายวิชาตามที่หลักสูตรกำหนด อีกทั้งต้องสอนในหลายระดับชั้นทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ทำให้ครูหนึ่งคนมีขอบเขตงานที่ต้องรับผิดชอบจำนวนมาก ทั้งที่ในหลายครั้งครูนั้นไม่มีความชำนาญหรือไม่มีความความรู้มากพอที่จะสอนวิชาเหล่านั้นทั้งหมด เนื่องจากมีวุฒิการศึกษาไม่ตรงกับวิชาที่ตนต้องสอน อีกทั้งครูยังขาดความรู้ในการวางแผนการสอนอย่างเป็นระบบ ซึ่งผลที่ตามมาคือทำให้การถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้เรียนขาดประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้เรียนไม่สามารถพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้เท่าที่ควร และมีคะแนนหรือผลการประเมินผลที่ออกมาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

จากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้ กศน.ตำบลเองไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษานอกระบบที่ต้องมีความยืดหยุ่นสามารถพัฒนาผู้เรียนนอกโรงเรียนให้เกิดการเรียนรู้ได้จริง นอกจากนั้น กศน.ตำบลยังมักมีปัญหาในเรื่องสื่อการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็น วัสดุ อุปกรณ์ ที่ขาดแคลน ชำรุด และไม่ได้คุณภาพ อีกทั้งเครือข่ายการศึกษาที่ต่าง ๆ ในพื้นที่ยังไม่มีการเชื่อมโยงกันเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของ กศน. ซึ่งจากปัญหาที่กล่าวมานี้ ช่วยให้เราเห็นภาพเลยว่า กศน.ตำบล ในตอนนี้ยังไม่สามารถเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้หากต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ กศน. ตำบลเพื่อให้ตอบโจทย์ตามวิสัยทัศน์ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จำเป็นต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรของ กศน.เพื่อกำหนดรายวิชาเรียนให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพจริงของผู้เรียน นอกจากนี้ ควรมีการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ต้นน้ำของการถ่ายทอดความรู้ นั่นก็คือ “ครู” เพราะหากต้นน้ำมีประสิทธิภาพแล้ว ย่อมส่งผลต่อผู้เรียนซึ่งเป็นปลายน้ำให้มีประสิทธิภาพตามไปด้วย ซึ่งการจะส่งเสริมคุณภาพของครูนั้น อาจเริ่มจากที่ตัวของครูเองที่ต้องหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยแนวทางการพัฒนามีด้วยกันหลายหลาย ไม่ว่าจะเป็น การที่ผู้สอนต้องมีการวางแผนการจัดการเรียนการสอนที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง มีการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้เรียน โดยการสร้างบรรยากาศเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียน อาจใช้สื่อเทคโนโลยี อุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นตัวช่วย นอกจากนั้นควรทำการประเมินการจัดการเรียนการสอนของตนว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะได้รู้ว่าวิธีการสอนแบบไหนที่เหมาะสมกับบริบทที่ตนสอนมากที่สุด

และเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปรรม ภาครัฐเองก็ควรเข้ามามีบทบาทในการจัดการเรื่องนี้ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้นำเสนอบทบาทของภาครัฐในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของกศน. ตำบล ได้อย่างน่าสนใจ คือ ในระดับหลักสูตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล ชุมชน หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาและปรับปรุงหลักสูตร เนื้อหาการเรียนการสอน ตลอดจนแนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับสภาพจริงของผู้เรียนใน กศน. และให้ครูแต่ละพื้นที่สามารถจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมตามสภาพความเป็นจริง โดยอาจพิจารณาจากจุดมุ่งหมายและขอบเขตของ กศน.ตำบล ที่เน้นตอบสนองผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันได้อย่างแท้จริง จุดมุ่งหมายของการสอนควรเป็นไปเพื่อการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาตนเอง ต่อยอดความรู้เพื่อพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ในขณะเดียวกันอาจมีแนวทางเพิ่มเติมในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้กับผู้เรียน เช่น การจัดค่ายวิชาการ ฯลฯ

นอกจากนี้ควรมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ครู กศน.สามารถนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนเพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ และเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น ส่วนการปรับปรุงพัฒนาระดับของบุคลากร ภาครัฐควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนให้การจัดอบรมและวิเคราะห์หลักสูตร จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียน ครู และเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้ครูได้เรียนรู้เทคนิคการสอนระหว่างกัน และนำไปพัฒนาศักยภาพในการสอนของตน นอกจากนี้อาจส่งเสริมให้เกิดการประสานความร่วมมือในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะเนื้อหาในบางรายวิชาที่จำเป็นต้องใช้ผู้สอนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ โดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยให้เข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอน

ทางออกของประเทศไทยในเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน หากยังคงนิ่งนอนใจไม่รีบแก้ไข มันอาจจะสายเกินไปและส่งผลต่อคุณภาพของคนในชาติระยะยาว ดังนั้นคนไทยควรตระหนักและเร่งปรับปรุงแก้ไขเรื่องนี้ เพื่อให้คนในชาติสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ อันจะกลายเป็นแรงผลักดันความเจริญก้าวหน้าของประเทศต่อไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัยย่อย “การพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ของครู กศน. ตำบล ในภูมิภาคตะวันตกเพื่อพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน”

หัวหน้าโครงการ : วรรณวีร์ บุญคุ้ม
ชุดโครงการ “การยกระดับคุณภาพการศึกษาและสร้างสรรค์การเรียนรู้ในภูมิภาคตะวันตก”
สนับสนุนโดย : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ที่มา https://researchcafe.org/non-formal-education/
เรียบเรียง ภัณฑิลา ธนบูรณ์นิพัทธ์

 

คำที่ค้นหาบ่อย สอบราชการ สอบ สอบ กพ. ติวสอบ เตรียมสอบ แนวข้อสอบ สอบท้องถิ่น สมัครสอบ ท้องถิ่น อบต. เทศบาล ประกาศสอบ งานราชการ กศน. สมัครสอบ กศน. ข้าราชการ ครู กศน. ครูผู้ช่วย นักจดการงานทั่วไป นักวิชาการศึกษา คู่มือสอบ สอบตำรวจ ทหาร เปิดสอบ สอบ ทดสอบ ข้อสอบ GAT PAT O-NET N-NET